วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2558




       ศิลปะเป็นคำที่มีความหมายทั้งกว้างและจำเพาะเจาะจง   

                                       ทั้งนี้ย่อมแล้วแต่ทัศนะของแต่ละคน

         แต่ละสมัยที่จะกำหนดแนวความคิดของศิลปะให้แตกต่างกันออกไป หรือแล้วแต่ว่าจะมีใครนำคำว่า "ศิลปะ" นี้ไปใช้ในแวดวงที่กว้างหรือจำกัดอย่างไร

ศิลปะ เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น
                ในสมัยโบราณ นักปราชญ์ได้ให้ความหมายของศิลปะ (Art)  ไว้ว่า ศิลปะ คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ต้นไม้ ภูเขา ทะเล น้ำตก ความงดงามต่างๆ ตามธรรมชาติจึงไม่เป็นศิลปะ ดอกไม้ที่เห็นว่าสวยสดงดงามนักหนา ก็ไม่ได้เป็นศิลปะเลย ถ้าหากเรายึดถือตามความหมายนี้แล้ว สิ่งที่มนุษย์สร้างสร้างขึ้นทั้งหลาย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นศิลปะทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น ภาพวาด ภาพพิมพ์ งานปั้น งานแกะสลัก เสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องประดับ ที่อยู่อาศัย  ยานพาหนะ เครื่องใช้สอย  ตลอดจนถึงอาวุธที่ใช้รบราฆ่าฟันกัน ก็ล้วนแต่เป็นศิลปะทั้งสิ้นไม่ว่ามนุษย์สร้างสิ่งที่ดีงาม เลิศหรูอลังการ หรือน่าเกลียดน่าชังอย่างไรก็ตาม ล้วนแต่เป็นงานศิลปะอย่างนั้นหรือไม่ ?

ศิลปะเป็นผลงานการสร้างสรรค์  
ในสมัยต่อมา มีผู้ให้ความหมายของศิลปะว่า ศิลปะเป็นผลงานการสร้างสรรค์  ซึ่งในความหมายนี้ เราต้องมาตีความหมายของคำว่า   "การสร้างสรรค์"   กันเสียก่อน การสร้างสรรค์ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า "Cerative" นั้น  คือ การทำให้เกิดบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา ซึ่งบางสิ่งบางอย่างนั้นไม่เคยมีอยู่มาก่อน ทั้งที่เป็นผลิตผล
 หรือความคิด  ดังนั้น สิ่งที่จะเป็นงานสร้างสรรค์ได้จะต้องเป็นประดิษฐ์กรรมใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลก   หรือเป็นกระบวนการใหม่ๆ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อกระทำการบางสิ่งบางอย่างให้ประสบผลสำเร็จ หรือเป็นการสร้างแนวคิดใหม่ที่จะนำไปสู่วิธีการใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ  นี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ เพราะแนวคิดใหม่ จะนำไปสู่การพัฒนากระบวนการ หรือวิธีการใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่ผลผลิตหรือประดิษฐ์กรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมาในโลก และตอบสนองความต้องการในด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ได้  เพื่อแทนที่ผลผลิต หรือประดิษฐ์กรรมเดิม   ที่ตอบสนองได้ไม่พอเพียง หรือไม่เป็นที่พอใจ การสร้างสรรค์ในอีกความหมายหนึ่งจึงเกิดขึ้น คือ เป็นการทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งมีหลายๆ วิธี โดยอาจเป็นการปรับปรุงกระบวนการใหม่ ให้ได้ผลผลิตมากกว่าเดิม หรือเป็นการปรับปรุงรูปแบบผลผลิตใหม่ โดยใช้วิธีการเดิม แต่ผลผลิตมีคุณภาพมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ๆ ก็ตาม เป็นการกระทำให้เกิดขึ้นจากการใช้แนวคิดแบบใหม่ๆ ทั้งสิ้น และเป็นผลของวิธีการคิดที่เรียกว่า   "ความคิดสร้างสรรค์"
           ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่อยู่ในมนุษย์ทุกคน และสามารถพัฒนาให้เกิดขึ้นได้โดยอาศัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและบรรยากาศที่เอื้ออำนวย  ความคิดสร้างสรรค์เป็นความคิดที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะอย่างแยกกันไม่ออก หรืออาจกล่าวได้ว่า ศิลปะเป็นผลงานจากความคิดสร้างสรรค์                                                                                                                 
               
           ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ศิลปะเป็นผลจากความคิดสร้างสรรค์   ดังนั้น สิ่งใดก็ตามที่มีความคิดสร้างสรรค์ ก็สามารถสร้างงานศิลปะได้  จากตอนต้นที่กล่าวว่า ศิลปะเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น แสดงว่า มนุษย์เป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์  และสามารถสร้างงานศิลปะได้ แต่นอกเหนือจากมนุษย์แล้วจะยังมีสิ่งอื่นๆ อีกหรือไม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ จากประวัติศาสตร์ของมนุษย์ และการศึกษา ค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ เราจะพบว่าสัตว์โลกหลายๆ ชนิดมีความคิด รู้จักความรักและมีสัญชาตญาณ แต่สิ่งเหล่านั้นจะจัดเป็นความคิดสร้างสรรค์หรือไม่   สัตว์ทั้งหลายสามารถสร้างหรือกระทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการได้ดีกว่าเดิมหรือไม่  รู้จักพัฒนาแนวคิด   กระบวนการ และผลผลิตให้ดีกว่าเดิมหรือไม่ ?
          
          หากเราจะเปรียบเทียบย้อนหลังไปเมื่อหลายหมื่น- แสนปีก่อนหน้านี้ เมื่อมนุษย์ยังอยู่ในถ้ำ ยังไม่สวมเสื้อผ้า เก็บผลไม้กินหรือไล่จับสัตว์กินเป็นอาหารซึ่งมีชีวิตไม่ต่างจากสัตว์ทั้งหลายในทุกวันนี้ แต่ปัจจุบัน มนุษย์มีบ้านอยู่สบาย มีเครื่องแต่งกาย
สวยงาม  มีสิ่งอำนวยความสะดวก มากมาย สามารถไปได้ทั้งบนน้ำ ในน้ำ ในอากาศและอวกาศ  มีเมือง  มีระบบสังคม  มีระเบียบปฏิบัติร่วมกัน มีกระบวนการพัฒนามนุษย์ที่จะสืบทอดดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป มีจริยศาสตร์  มีศาสนาและพิธีกรรม มีรูปแบบการดำรงชีวิตที่แตกต่างกันอย่างหลาหลาย กระจายไปทั่วโลก ขณะที่สัตว์โลกอื่น ๆ ยังคงดำรงชีวิตอยู่เดิมๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ข้อแตกต่างนี้ บางทีอาจเป็นสิ่งพิสูจน์ได้ว่า มนุษย์เป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ เพียงหนึ่งเดียวบนโลกนี้ ดังนั้น ศิลปะจึงเป็นเรื่องของมนุษย์ สร้างขึ้นโดยมนุษย์ และเพื่อมนุษย์เท่านั้นจากข้อความข้างต้นที่กล่าวมา เราอาจสรุปได้ว่า ศิลปะเป็นสิ่งที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของมนุษย์ซึ่งในความหมายเช่นนี้ แสดงว่า สิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์คิดค้นกระทำขึ้นมา  ทั้งที่เป็นการกระทำใหม่ๆ หรือเป็นการกระทำสิ่งต่าง ๆให้ดีขึ้นกว่าเดิมล้วนแต่เป็นงานศิลปะทั้งสิ้นอย่างนั้นหรือไม่ ? ถ้าเป็นอย่างนั้น แนวคิดใหม่ๆ วิธีการใหม่ ๆ ประดิษฐ์กรรมใหม่ๆ ความเชื่อใหม่ๆ ศาสนาใหม่ๆ  ตลอดจนถึงการดำรงชีวิตแบบใหม่ อาวุธใหม่ๆ การสร้างความหายนะให้กับผู้อื่นด้วยวิธีการใหม่ๆ ก็เป็นศิลปะอย่างนั้นหรือ ? การทำลายล้างด้วยอาวุธใหม่ๆ รวดเร็ว รุนแรง สร้างความเสียหายใหญ่หลวงจะถูกยกย่องว่าเป็นผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมหรือไม่?

ศิลปะคือความงาม
          เมื่อเราพูดถึง ศิลปะ เรามักจะหมายถึง ความงาม แต่ความงามในที่นี้เป็น
เรื่องของคุณค่า (Value) ที่เป็นคุณค่าทางสุนทรียะ  แตกต่างจากคุณค่าทางเศรษฐกิจ ที่เป็นราคาของวัตถุ  แต่เป็นคุณค่าต่อจิตใจ ความงามเกิดขึ้นด้วยอารมณ์ มิใช่ด้วยเหตุผล   ความคิด หรือข้อเท็จจริง  คนที่เคร่งครัดต่อเหตุผลหรือเพ่งเล็งไปที่คุณค่าทางวัตถุจะไม่เห็นความงาม  คนที่มีอารมณ์ละเอียดอ่อนไหว จะสัมผัสความงามได้ง่ายและรับได้มาก  ความงามให้ความยินดี ให้ความพอใจได้ทันทีโดยไม่ต้องมีเหตุผล  ความยินดีนั้นเกิดขึ้นเองโดยไม่มีการบังคับ  ความงามนั้นเกี่ยวข้องกับวัตถุก็จริง แต่มิได้เริ่มที่วัตถุ มันเริ่มที่อารมณ์ของคน ดังนั้น ความงามจึงเป็นอารมณ์  เป็นสุขารมณ์หรือเป็นอารมณ์ที่ก่อให้เกิดความสุข  เป็น1 ใน 3  สิ่งที่ก่อให้เกิดความสุขกับมนุษย์ ซึ่งได้แก่  ความดี  ความงาม  และความจริง ผู้ที่ยอมรับและเห็นในคุณค่าของทั้งสามสิ่งนี้ จะเป็นผู้มีความสุข   เนื่องจากความงามเป็นอารมณ์   เป็นสิ่งที่อยู่ในความรู้สึกนึกคิด ความงามจึงเป็นนามธรรม  ดังนั้น  การสร้างสรรค์งานศิลปะ  ก็เป็นการถ่ายทอดความงามผ่านสื่อวัสดุต่าง ๆ ออกมา เพื่อให้ผู้อื่นได้สัมผัส ได้พบเห็น ได้รับรู้ สื่อต่างๆ จะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ชม เกิดอารมณ์ทางความงามที่แตกต่างกันตามค่านิยมของแต่ละบุคคล   ความงามไม่ใช่ศิลปะ เนื่องจากว่าความงามไม่จำเป็นต้องเกิดจากสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ในธรรมชาติก็มีความงามเช่นกัน เช่น  บรรยากาศ ขณะที่พระอาทิตย์ขึ้น หรือตกดิน  ความสวยงามสดชื่นของดอกไม้  ทิวทัศน์ธรรมชาติต่าง ๆ เป็นต้น งานศิลปะที่ดีจะให้ความพึงพอใจในความงามแก่ผู้ชมในขั้นแรก และจะให้ความสะเทือนใจที่คลี่คลายกว้างขวางยิ่งขึ้นด้วยอารมณ์ทางสุนทรียะของผลงานศิลปะนั้นในขั้นต่อไป

     ความงามในงานศิลปะออกเป็น 2 ประเภท คือ
    1 ความงามทางกาย (Physical Beauty) เป็นความงามของรูปทรงที่กำหนดเรื่องราว หรือเกิดจากการ ประสานกลมกลืนกันของทัศนธาตุ เป็นผลจากการจัดองค์ประกอบทางศิลปะ                       
    2  ความงามทางใจ (Moral  Beauty) ได้แก่ ความรู้สึก หรืออารมณ์ที่แสดงออกมาจากงานศิลปะหรือที่ผู้ชมสัมผัสได้จากงานศิลปะนั้น ๆ          
                ในงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ๆ มีความงามทั้ง 2 ประเภทอยู่ร่วมกัน แต่อาจแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่ง มากน้อยขึ้นอยู่กับประเภทของงาน  เจตนาของผู้สร้างและการรับรู้ของผู้ชมด้วยความงามในศิลปะเป็นการสร้างสรรค์ล้วน ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับความงามวัตถุในธรรมชาติ  เป็นความงามที่แสดงออกได้ แม้ในสิ่งที่น่าเกลียด  หัวข้อ  เรื่องราว   หรือเนื้อหาที่ใช้สร้างงานนั้นอาจน่าเกลียด   แต่เมื่อเสร็จแล้ว ก็ยังปรากฎความงามที่เกิดจากอารมณ์ที่ศิลปินแสดงออก ดังนั้น ความงามจึงเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง ที่ว่าด้วยความงามที่ศิลปินแสดงออกในงานศิลปะ ซึ่งเรียกว่า  "สุนทรียศาสตร์"  มีข้อความที่ใช้กัน มาตั้งแต่สมัยเรอเนซองค์จนถึงทุกวันนี้ว่า"ศิลปะมิได้จำลองความงาม  แต่สร้างความงามขึ้น"

 ดังนั้น  จึงอาจสรุปได้ว่า "ศิลปะเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดความงาม และความพึงพอใจ" ที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์สืบเนื่องกันมาตั้งแต่อดีตอันยาวนานจนถึงปัจจุบันและจะสร้างสรรค์สืบต่อไปในอนาคตให้อยู่คู่กับเผ่าพันธุ์มนุษย์ไปตราบนานเท่านาน   โดยมีการสร้างสรรค์ พัฒนารูปแบบต่าง ๆ ออกไปอย่างมากมายไม่มีที่สิ้นสุด

1 ความคิดเห็น: